|
|
|
|
|
 |
|
 |
บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ผู้ผลิตเอทานอลรายใหม่แจ้งกำลังผลิตถึง 200,000 ลิตร/วัน ตั้งโรงงานอยู่ที่แม่สอด ใช้น้ำอ้อยเป็นวัตถุดิบ 100% โดยกลุ่มมิตรผลในนามเพโทร กรีน จะเข้ามาดูแลเรื่องวัตถุดิบ เตรียมส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่เฟสแรก 60,000 ไร่ พร้อมทำข้อตกลงกับชาวไร่ ซื้อขาด ไม่นำเข้าระบบแบ่งปัน 70/30 เหมือนโรงงานน้ำตาล
การเกิดขึ้นของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ผู้ผลิตเอทานอลรายใหม่ ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทเพโทร กรีน เครือน้ำตาลมิตรผล-บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) แจ้งกำลังผลิตถึง 200,000 ลิตร/วัน กำลังถูกจับตามองจากกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลอย่างใกล้ชิด
เนื่องจากกำลังผลิตที่สูงถึง 200,000 ลิตร/วัน เทียบเท่ากับบริษัท ไทยแอลกอฮอล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลิตจริงอยู่ที่ 200,000 ลิตร/วันเช่นกัน ส่งผลให้บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด กลายเป็นโรงงานผลิตเอทานอลสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 3 ทันที
นายศุภนิตย์ มานะจิตต์ รองผู้จัดการใหญ่สายงานอ้อยภาคกลาง กลุ่มน้ำตาลมิตรผลเปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้บริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ซึ่งกลุ่มมิตรผลร่วมทุนอยู่ด้วย กำลังอยู่ในขั้นตอนการขอใบอนุญาตตั้งโรงงาน เอทานอล หลังจากได้ใบอนุญาตแล้วคาดว่าจะก่อสร้างโรงงานและดำเนินการผลิตเอทานอลจริงในเฟสแรกของปี 2552 ด้วยกำลังการผลิตขั้นต้น 100,000 ลิตร/วัน
ทั้งนี้ โครงการผลิตเอทานอลของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด จะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินทุนของบริษัท ผาแดงฯร้อยละ 35, บริษัทเพโทร กรีน ร้อยละ 35% และบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 30 การลงทุนแบ่งเป็น 2 เฟส เฟสแรกจะเสร็จในช่วงปี 2552 กำลังการผลิต 100,000 ลิตร/วัน และเฟสที่สองจะแล้วเสร็จในระหว่างปี 2554-2555 กำลังการผลิต 200,000 ลิตร/วัน
"การร่วมทุนผลิตเอทานอลโครงการนี้ เราเห็นโอกาสการเติบโตของพลังงานทดแทน โดยโครงการของแม่สอดพลังงานสะอาด จะแยกต่างหากจากโครงการผลิตเอทานอลของบริษัท เพโทร กรีน กับ บริษัทไทยออยล์ ที่ได้ใบอนุญาตผลิต เอทานอลไปก่อนหน้านี้แล้ว นั้นหมาย ความว่า บริษัทจะต้องขอใบอนุญาตในการผลิต เอทานอลใหม่ แต่ปัญหาในขณะนี้ก็คือ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะขอใบอนุญาตการผลิตได้ที่ไหน ต้องขอจากคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ (กชช.) หรือขออนุญาตตั้งโรงงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้เลย" นาย ศุภนิตย์กล่าว
สำหรับวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเอทานอลนั้น จะใช้ "น้ำอ้อย" มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต 100% โดยทางกลุ่มมิตรผลจะเข้าไปส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่ให้มีการปลูกอ้อยในเฟสแรกจะเข้าไปทำโครงการปลูกอ้อยประมาณ 60,000 ไร่ อยู่ในพื้นที่ของเหมืองผาแดงประมาณ 10,000 ไร่ และหากโรงงานขยายการผลิตไปถึงเฟส 2 การส่งเสริมการปลูกอ้อยก็จะขยายพื้นที่ออกไปอีก 200,000 ไร่ และหากพื้นที่ปลูกอ้อยในบริเวณจังหวัดตากมีไม่เพียงพอ ก็อาจจะขยายไปในพื้นที่ฝั่งพม่าได้
อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมการปลูกอ้อยในพื้นที่ของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด ในเบื้องต้นได้มีการทำข้อตกลงกับชาวไร่อ้อยแล้วว่าอ้อยที่ปลูกได้จะไม่นำมาเข้าระบบแบ่งปันผลประโยชน์ 70/30 เหมือนกับที่ใช้ในอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยบริษัทจะเข้าไปรับซื้ออ้อยจากชาวไร่ในพื้นที่ตามราคาอ้อยที่ตกลงเบื้องต้นไว้แบบเบ็ดเสร็จ และจะไม่นำมาคิดรายได้ของระบบอีก
"ขณะนี้ยังไม่มีหลักการที่ชัดเจนเกี่ยวกับการนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอล จะต้องคิดเป็นรายได้แบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่กับโรงงานอย่างไร ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา เราจึงต้องมีการจัดการระบบการรับซื้ออ้อยในพื้นที่ที่เราให้การส่งเสริม และเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เราต้องทำข้อตกลงกับชาวไร่ให้ชัดเจน" นาย ศุภนิตย์กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในโครงการผลิตเอทานอลของบริษัทเพโทร กรีนนั้น นายศุภนิตย์กล่าวว่า ในขณะนี้บริษัทได้รับใบอนุญาตในการตั้งโรงงาน เอทานอลไปแล้ว 2 โรงงาน ในส่วนของโรงงาน เพโทร กรีน ที่อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้างโรงงาน คาดว่าจะเสร็จและดำเนินการผลิตเอทานอลได้ในเดือนธันวาคมนี้ด้วยกำลังการผลิต 200,000 ลิตร/วัน
อีกโรงงานหนึ่งที่อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อยู่ในระหว่างการก่อสร้างโรงงานคาดว่าจะแล้วเสร็จและดำเนินการผลิตเอทานอลได้ในเดือนช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2550 กำลังการผลิต 200,000 ลิตร/วันเช่นเดียวกัน โดย วัตถุดิบของทั้ง 2 โรงงานจะใช้ น้ำอ้อยกับกากน้ำตาล (โมลาส) ในการผลิตเอทานอล
"ในเดือนธันวาคมนี้ เรายืนยันแน่นอนว่า บริษัทเพโทร กรีนจะสามารถผลิตเอทานอลออกจำหน่ายได้ 200,000 ลิตร/วันแน่นอน และที่สำคัญขณะนี้เราได้ทำสัญญาซื้อ-ขายเอทานอลกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไว้เรียบร้อยแล้ว" นายศุภนิตย์กล่าว
มีข้อน่าสังเกตจากกลุ่มผู้ผลิตเอทานอลถึงสถานที่ตั้งโรงงานเอทานอลของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาดว่า จังหวัดตากมีพื้นที่สูงชันและไม่ได้เป็นเขตปลูกอ้อยที่สำคัญของประเทศมาก่อนเหมือนในภาคกลาง-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่สำคัญก็คือ โครงการนี้ใช้น้ำอ้อย 100% ในการผลิตเอทานอลกำลังผลิตสูงถึง 200,000 ลิตร/วัน จึงน่าเป็นห่วงว่าจะมีผลผลิตอ้อยในพื้นที่จังหวัดตาก เพียงพอหรือไม่
และหากจังหวัดตากมีพื้นที่ปลูกอ้อยมาก มายขณะนั้น ทำไมถึงไม่ตั้งโรงงานน้ำตาล โดยไม่ต้องไปแย่งอ้อยเหมือนกับที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กันอีก |
|
 |
|
 |
|
|
|
|
|
สงสัยให้โทรมา 081-281-6490
|
|
|